การตรวจสุขภาพของแบตเตอรี่ (ตอนที่ 3)

Last updated: 26 ก.ค. 2561  |  6528 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การตรวจสุขภาพของแบตเตอรี่ (ตอนที่ 3)

จากที่เราทราบแล้วว่าการวิเคราะห์สภาพของแต่ละเซลสามารถบอกได้ว่าแบตเตอรี่ของเราอยู่ในสภาพใด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแบตเตอรี่ทั่วไปจะประกอบด้วยเซลมากกว่า 1 เซลเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Monoblock นั้น ทำให้เราต้องทำการตรวจสอบทุก ๆ เซลในแบตเตอรี่ ซึ่งกรรมวิธีการตรวจก็สามารถใช้ขั้นตอนตามรูปภาพประกอบนี้ ซึ่งเราก็สามารถวิเคราะห์ตามตามสภาพได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ถ้าตรวจด้วย Hydrometer แล้ว ทุก ๆ เซลมีความถ่วงจำเพาะ (S.G.) ที่เหมาะสม ก็ให้ทำการตรวจสอบด้วยเครื่องทดสอบแบตเตอรี่ (Battery Tester) ไม่ว่าจะเป็น Load Tester หรือ Battery Analyzer ซึ่งถ้าผลการทดสอบปรากฏว่าแบตเตอรี่มีสุขภาพดี หรือ Good Battery แสดงว่าแบตเตอรี่ลูกดังกล่าวมีสุขภาพสมบูรณ์ แต่ถ้าทดสอบแล้วผลปรากฏว่าแบตเตอรี่เสีย หรือ Failed ก็แสดงว่าแบตเตอรี่น่าจะมีปัญหาสมควรเปลี่ยนใหม่ได้

กรณีที่ 2 ถ้าตรวจด้วย Hydrometer แล้วปรากฏว่าทุก ๆ เซลมีความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าค่ามาตรฐาน (1.150) ก็ให้นำแบตเตอรี่ไปอัดไฟให้เต็มเสียก่อน จากนั้นทดสอบด้วย Hydrometer อีกครั้ง ถ้าผลออกมาดีทุกเซล ก็ทำการทดสอบด้วย Battery Tester อีกครั้ง ผลก็เหมือนกรณีที่ 1

แต่ถ้าหลังอัดไฟปรากฏว่ามีบางเซลที่ค่า S.G. ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ก็สันนิษฐานได้ว่าแบตเตอรี่ลูกนี้น่าจะได้เวลาเปลี่ยนแล้ว

กรณีที่ 3 ถ้าตรวจวัดด้วย Hydromter แล้ว ปรากฏว่าบางเซลมีค่า S.G. ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ให้นำแบตเตอรี่ไปอัดไฟเสียก่อน เมื่อไฟเต็มแล้วก็นำมาทดสอบวัดด้วย Hydrometer อีกครั้ง ถ้าทุก ๆ เซลกลับมามีค่า S.G. ตามมาตรฐานก็นำมาตรวจวัดด้วย Battery Tester อีกครั้ง ถ้าผลออกมาดีก็นำไปใช้งานได้เลย แต่ถ้าผลเทสออกมาว่าแบตเตอรี่เสียก็ต้องเปลี่ยนลูกใหม่

แต่ถ้าหลังการอัดไฟแล้ว เซลบางเซลยังมีค่า S.G. ต่ำกว่าเซลอื่น ๆ อยู่ก็แสดงว่าถึงเวลาเปลี่ยนใหม่แล้ว

กรณีที่ 4 ถ้าแบตเตอรี่มีอีเล็คโทรไลต์หรือระดับน้ำต่ำจนไม่สามารถวัดด้วย Hydrometer ได้ ให้ทำการเติมน้ำกลั่นลงไปในทุก ๆ เซลจนถึงระดับน้ำสูงสุด (Upper Level) จากนั้นนำแบตเตอรี่ไปอัดไฟ เมื่ออัดไฟแล้วก็นำมาตรวจวัดด้วย Hydrometer อีกครั้ง วิธีการจากนี้เหมือนกรณีที่ 3 ทุกปราการ

ที่สำคัญ ในกรณีที่ 4 นี้ ควรทำการตรวจสภาพรถยนต์ (หรืออุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่นั้น) เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าระบบไฟในรถยนต์คันดังกล่าวจะมีปัญหาส่งผลให้แบตเตอรี่มีปัญหาไปด้วย และควรซ่อมแซมหากมีปํญหาจริง

ขั้นตอนการตรวจตามชาร์ตนี้ เป็นการทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป หากเป็นแบตเตอรี่ชนิด Sealed Maintenance Free หรือแบบที่ไม่สามารถตรวจวัดด้วย Hydrometer ได้ ก็ให้ข้ามขั้นตอนการทดสอบด้วย Hydrometer ไปและเริ่มต้นด้วยการนำแบตเตอรี่ไปอัดไฟก่อนและทดสอบด้วย Battery Tester เลย

เพียงเท่านี้เราก็สามารถวิเคราะห์สุขภาพของแบตเตอรี่ได้แล้วครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้